วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2564

โดราเอมอน ความทรงจำไม่เลือนหาย

        ผมเชื่อว่าวัยเด็กของหลาย ๆ คนคงมีเรื่องราวที่คล้ายกันอยู่อย่างหนึ่งนั่นคือ "การดูการ์ตูน" การตื่นมาดูการ์ตูนทุกเช้าเสาร์อาทิตย์ถือเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่เด็กไทยอย่างเรา ๆ ต้องเคยผ่านประสบการณ์มาแทบทุกคน และในช่วงวัยเด็กของผมเองก็มีความทรงจำมากมายเกี่ยวกับกับการ์ตูน ช่วงเวลาเหล่านั้นได้กลายเป็นความทรงจำที่แสนอบอุ่นและชวนให้คิดถึงอยู่เสมอ แม้ว่าตอนนี้ผมจะอายุ 22 ปีแล้ว แต่ผมยังคงใช้เวลาว่างไปกับการหยิบหนังสือการ์ตูนสักเล่มขึ้นมาอ่าน หรือเปิดดูการ์ตูนสักเรื่องบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง และหนึ่งในการ์ตูนเรื่องโปรดของผมก็คือ "โดราเอมอน"

จาก: https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjTmM9MqcdUmWu2B_KsgtOJZL1DVPUTxsYXDdQnZomv6_5JDnIV5bUxtZZt74N9mdHR3JmeQcVZ2uZ3220y3rQ7w6oaEgyATF_dTwcQCdaK-Q01qk1mpidyEkA0RTiQrvG86MCh2FlFlpY/s1600/118439490.jpg

กำเนิดโดราเอม่อน
        การ์ตูนชุด โดราเอมอน เป็นผลงานจาก "ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ" ซึ่งเป็นนามปากกาของอาจารย์ ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ กับอาจารย์ โมโต อาบิโกะ ซึ่งอาจารย์ทั้งสองท่านเป็นเพื่อนรักกันมาตั้งแต่ชั้นประถม ทั้งคู่ได้ร่วมมือกันในการเขียนและวาดการ์ตูนชุดนี้ขึ้น และได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1969 โดยสำนักพิมพ์โชงากูกัง โดยแรกเริ่มทั้งคู่ได้ลงโฆษณาการ์ตูนเรื่องใหม่ด้วยการร่างโครงเรื่องเกี่ยวกับตัวละครสำคัญอย่างโนบิตะเด็กชายวัยประถมจอมขี้แยขึ้นมาก่อน แต่ยังไม่ได้สร้างตัวละครโดราเอมอนขึ้นมา กระทั่งวันหนึ่งอาจารย์ก็เกิดความที่คิดที่ว่า ถ้าหากเราสามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขเรื่องต่าง ๆ ได้ก็คงจะดีไม่น้อย ตัวละครโดราเอม่อนหุ่นยนต์จากศตวรรษที่ 22 ที่จะนั่งไทม์แมชชีนเพื่อย้อนเวลากลับไปช่วยโนบิตะเด็ชายจอมขี้แย ผู้ไม่เอาไหนจึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยรูปลักษร์ของโดราเอมอนที่เป็นหุ่นยนต์แมวสีฟ้าที่เราคุ้นเคยกันนี้อาจารย์ได้แรงบรรดาลใจมากจากตุ้กตาล้มลุกของลูกสาวและแมวจรที่แวะเวียนมาที่บ้านบ่อย ๆ นั่นเอง 

จาก: https://thematter.co/entertainment/50-years-of-doraemon/87437

สะท้อนภาพสังคมและแฝงด้วยปรัชญา
        โดราเอมอนถือเป็นการ์ตูนที่ครองใจผู้คนทั่วโลก เพราะมีเนื้อเรื่องที่ชวนให้คิดถึงชีวิตในวัยเด็กของครอบครัวชนชั้นกลางของสังคม เป็นเรื่องราวที่เข้าถึงได้ง่ายโดยมีเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คน รวมถึงมีการหยิบยกประสบการณ์ที่เด็กทุกคนล้วนเคยสัมผัสมาร้อยเรียงเรื่องราว เช่น การที่ได้ทะเลาะ เล่นสนุก และผจภัยกับเพื่อน ๆ ซึ่งสะท้อนภาพชีวิตในวัยเด็กของใครหลาย ๆ คนได้เป็นอย่างดี จึงทำให้โดราเอม่อนสามารถครองใจผู้คนทั่วโลกได้ทุกเพศทุกวัย อีกทั้งภาพประกอบและเนื้อเรื่องยังสะท้อนภาพบ้านเมืองและสังคมญี่ปุ่น ที่แสดงให้เห็นถึงความมีชีวิตชีวาและเรียบง่ายในเวลาเดียวกัน มีการสะท้อนบทบาทของสถาบันครอบครัว สถาบันทางสังคม และสถาบันทางการศึกษา ที่แฝงไปด้วยแง่คิดและข้อเท็จจริงของสังคม ที่มักจะมีปัญหาเข้ามาให้แก้ไม่เว้นแต่ละวัน แต่ในท้ายที่สุดปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้นก็จะผ่านพ้นไป แล้วปัญหาใหม่ก็จะผ่านเข้ามาราวกับเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต ซึ่งถือเป็นปรัชญาข้อหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการ์ตูนเรื่องนี้ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความสนุกของโดราเอมอนส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการที่มีเรื่องราวของของวิเศษที่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ให้ดูง่ายขึ้น (รึป่าว😂) เช่น ประตูไปที่ไหนก็ได้ ไทม์แมชชีน คอปเตอร์ไม้ไผ่ กระทั่งขนมปังช่วยจำที่เป็นของวิเศษที่ผมอยากได้มากที่สุดเมื่อถึงเวลาใกล้สอบ ซึ่งของวิเศษเหล่านี้ล้วนได้แรงบรรดาลใจมาจากปัญหาที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้คนคล้อยตามได้ง่ายในทำนองที่ว่า ถ้าหากมีของวิเศษเหล่านี้จริง การดำเนินชีวิตประจำวันก็คงสะดวกดีไม่น้อย อีกทั้งเรื่องราวมิตรภาพระหว่างเพื่อนรักอย่างโดราเอมอนและผองเพื่อน ก็ช่วยให้การ์ตูนชุดนี้มีทั้งความสนุกและความอบอุ่นหัวใจในเวลาเดียวกัน

จาก: https://www.sanook.com/campus/921419/

ทูตทางวัฒนธรรม
        จากการที่โดราเอมอนเป็นที่นิยมและสามารถครองใจผู้คนจากทั่วโลก กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นจึงได้แต่งตั้งให้โดราเอมอนเป็นทูตสัมพันธไมตรี เพื่อเป็นตัวแทนในการประชาสัมพันวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยโดราเอม่อนถือเป็น "ทูตอะนิเมะ" ตัวแรกของญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรม (soft power) และเป็นตัวแทนของวงการอะนิเมะหรืออุตสาหกรรมแอนิเมชั่นญี่ปุ่นอีกด้วย

จาก http://www.chinadaily.com.cn/world/2008-03/20/content_6553019_3.htm

สรุปความสำเร็จของการ์ตูนโดราเอมอน
        โดราเอมอนถือเป็นการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จอย่างมากเรื่องรายได้ โดยในช่วงปี 1979 - 2018 จากการที่โดราเอมอนได้ก้าวจากภาพนิ่งมาสู่ภาพเคลื่อนไหว ก็ทำให้โดราเอมอนกลายเป็นการ์ตูนแอนิเมชันซีรีส์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล โดยมีรายได้รวมราว 37,700 ล้านบาท นอกจากนี้โดราเอมอนยังถือเป็นแบรนด์ที่สามารถสร้างรายได้จากค่าลิขสิทธิ์สูงถึงแสนล้านบาทต่อปี และมียอดขายหนังสือการ์ตูนกว่าหนึ่งร้อยล้านเล่ม โดยแปลไปกว่า 9 ภาษาทั่วโลก และนอกจากจะประสบความสำเร็จด้านรายได้แล้ว โดราเอมอนยังถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในบทบาทของการเป็นตัวแทนในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรม (soft power) ซึ่งสามารถเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความเป็นญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี เช่น วัฒนธรรมประเพณีของคนญี่ปุ่น วิถีชีวิต รวมถึงงานเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาสนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นและเดินทางมาเยี่ยมเยือนได้อีกทางหนึ่ง ถึงแม้ว่าปัจจุบันการ์ตูนโดราเอมอนจะมีอายุกว่า 52 ปีแล้ว แต่ความนิยมยังไม่ลดน้อยลงแต่อย่างใด เนื่องจากมีการสานต่อผลงานจากอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน และมีการปรับปรุงพัฒนาแบรนด์อยู่เสมอ โดยที่ยังคงกลิ่นอายของการ์ตูนต้นฉบับเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ทำให้โดราเอมอนยังสามารถเข้าไปนั่งอยู่ในใจของคนยุคนี้ได้ เช่นเดียวกับที่เคยเข้าไปนั่งในใจเด็กยุคปี 1969 ซึ่งโดราเอมอนพึ่งถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรก ราวกับว่าโดราเอมอนและผองเพื่อน นั่งไทม์แมชชีนข้ามเวลามาสร้างความประทับใจให้กับเรา 

จาก http://www.chinadaily.com.cn/world/2008-03/20/content_6553019_3.htm




ขอบคุณข้อมูลจาก :

นริศรา สื่อไพศาล. 2560. ครองใจผู้คน แล้วยังครองใจตลาด : สำรวจความแข็งแกร่งและการสร้างแบรนด์แบบ ‘โดราเอมอน’. ค้นเมื่อ 27 กันยายน 2564, จาก https://thematter.co/social/how-doraemon-be-legend-for-branding/155759

ปรีดิ์ปณต นัยนะแพทย์. 2560. ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ กับ 7 ผลงาน ที่ไม่ได้มีแค่โดราเอมอน. ค้นเมื่อ 27 กันยายน 2564, จาก https://thematter.co/entertainment/7-wonder-mangas-from-fujiko-f-fujio/35738

ปรีดิ์ปณต นัยนะแพทย์. 25ุ62. 50 ปี โดราเอมอน : หุ่นยนต์แมวสีฟ้าที่โตมาด้วยกัน ฑูตผู้ส่งต่อ         วัฒนธรรมญี่ปุ่นข้ามยุค. ค้นเมื่อ 27 กันยายน 2564, จาก https://thematter.co/entertainment/50-years-of-doraemon/87437

ลงทุนแมน. 2561. ปรัชญา โดราเอมอน. ค้นเมื่อ 27 กันยายน 2564, จาก https://www.longtunman.com/6763


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โดราเอมอน ความทรงจำไม่เลือนหาย

          ผมเชื่อว่าวัยเด็กของหลาย ๆ คนคงมีเรื่องราวที่คล้ายกันอยู่อย่างหนึ่งนั่นคือ "การดูการ์ตูน" การตื่นมาดูการ์ตูนทุกเช้าเสาร์...